วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การร่างภาพก่อนวาด

ART TRIP : เส้นทางแห่งงานศิลปะ
พื้นฐานการวาดภาพ


เห็นแล้วอยากวาด(รูป) อยากทำ(วาด) อยากสะกิด(สี+ดินสอ+ฝีแปรง)
เพื่อสะกดคนทั้งโลกให้ตะลึงงุนงง+งงงัน แถมด้วยงงงวยจนงวยงง


นั้น..คงเป็นความรู้สึกของหลายๆท่านที่อยากวาดภาพ แต่วาดไม่ได้ สักทีในเมื่อสมองสั่งการ
แต่มือเจ้ากรรมไม่ยอมทำตาม ให้ได้ดั่งใจที่มันสั่งมา
ก็เลยจำเป็นต้องจากจรกันไป แต่ยังไม่อยากจากลาจนสิ้นเยื้อใยไปซะทีเดียว

การวาดภาพที่อยู่ในหัวให้ปรากฎออกมาสู่สายตาสาธารณะชน
เหมือนกับมีเครื่องปริ๊นภาพสุดเจ๋งที่เราบรรจงตกแต่งในคอมพิวเตอร์ให้ออกมา สิ่งเหล่านี้ ต้องได้รับการฝึกฝน
ต้องมีพื้นฐานหรือทักษะการวาด สังเกตุ  ความอดทน 
จนถึงจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้ายิ่งกว่าการขอตังค์แม่ซื้อขนมในสมัยอนุบาล

การฝึกทักษะต้องใช้ความอดทน ไม่ว่าจะเป็นทักษะใดๆก็ตาม ตั้งแต่ศิลปะ ดนตรี หรือกีฬา
เพราะ ฉะนั้นหากเราจะจับดินสอ แล้วให้วาดเก่งเหมือนดาร์วินชี กลับชาติมาเกิดนั้นคงเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีพื้นฐานการฝึกฝนใดๆมาก่อน ถึงแม้จะรักมากมายขนาดไหนก็ตาม

ใจเย็นๆ...พี่น้อง ผองเพื่อน

ก่อนจะวาดรูปใดๆให้ได้ดั่งใจปราถณานั้น
ควรฝึกพื้นฐานเหล่านี้ก่อนแล้วค่อยวาด ฝึกให้ชำนาญ
จนสามารถควบคุมมือให้ลากเส้นได้
ลากจนเส้นตรงให้ตรง เฉียงให้เฉียง กลมก็ต้องให้กลมจริงๆ
ก่อนที่จะวาดภาพต่อไป

ถ้าไม่ฝึกพื้นฐานแบบนี้ก่อน อาจทำให้เราหงุดหงิด หงุนหง่าน จนงอแง
เมื่อเราไม่สามารถบังคับเส้น หรือกล้ามเนื้อมือให้ได้ดั่งใจได้ปราถณา


เวลาจะลากเส้นตรงดันเบี้ยวเป็นรูปหนอนหนีตาย 
จะหมุนให้กลมเหมือนแสกปั้น กลายเป็นรูปก้อนดินเหนียวร่วงพื้นบิดไปมา
หรือการพึ่งพาแต่การดราฟจนทำให้ไม่สามารถออกไปสเก็ตภาพที่ไหนได้
จะวาดภาพ land scape ,sea scape,potrait ที เกร็งจนข้อมือติดขัดเหมือนคอมพิวเตอร์โดนไวรัส
ร่างกายคล้ายๆถูกสะกดให้นิ่งอยู่กับที่
เหมือนผีจีนที่โดนยันต์แปะหน้าผากให้ยืนสงบอยู่ตรงหน้ากระดาษหรือผืนผ้าใบโดยไม่กล้าทำอะไร

ในที่สุดเราก็จะเลือกล้มความตั้งใจไปโดยอัตโนมัติ
กลายเป็นโดนยึดความมั่นใจไปเหมือนกับการโดนเครื่องกดเงินยึดบัตร
เพราะขาดความอดทนกับเราที่ไม่ยอมจำระหัสให้ดี




อุปกรณ์ง่ายๆ ไม่กี่อย่างที่ต้องเตรียม
สำหรับการฝึกมือเพื่อเตรียมตัวสร้างผลงานช๊อคโลกในอนาคต
1. ดินสอ EE+คัดเตอร์
2. กระดาษบรูฟ+กระดานสเก็ต
3. ยางลบ ที่พกมาไว้เพื่ความมั่นใจเหมือนกับการสวมพระไว้กันผี
4. ใจ แบบไม่ต้องเอาปอดมาด้วย

เมื่อเตรียมของเสร็จ ก่อนที่ท่านจะจับดินสอเพื่อเริ่มภาระกิจการวาดภาพเพื่อยกระดับจิตวิญญานของมวลมนุษย์แล้ว
ควรบริหารมือก่อน เหมือนเป็นการอุ่นเครื่องหรือการหยอดน้ำมันให้ลื่นไหล ทั้งกายและใจ

การบริหารก็เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อมือ ที่เกร็งเป็นวงเวียนโดนสนิมให้คล่องแคล่ว ว่องไว
เพื่อที่จะสามารถวาดผลงานสะกดโลกชิ้นโบแดงของเราได้อย่างเต็มพลัง ยิ่งกว่าโงกุนกับผู้เฒ่าเต่า

สลัดๆๆๆ พัดโบกมือไปมา โบกให้พริวไหวประดุจใบไม้ที่ปลิวไปตามลม
เสมือนจอมยุทธน้อยที่กำลังจะตะลุยโลดแล่นออกสู่โลกกว้าง
ด้วยการบิดขี้เกียจให้เต็มที่ หมุนที่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อแขน หัวไหล่ บริเวณเอวตรงกล้ามเนื้อใหญ่
ที่หลายๆท่านใช้ในการหมุนเพื่อกำหนดวงสวิงเวลาเล่นกอล์ฟ




มาถึงการจับดินสอ
มีการจับอยู่หลากหลายตามความถนัด
แต่ที่ผมอยากแนะนำให้ลองฝึกเพื่อความคล่องตัวและสะดวกในการใช้งาน คงมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน
1. จับแบบเขียนหนังสือ
   - ใช้สำหรับการเก็บรายละเอียดของงานในพื้นที่เล็ก แคบ
   - วิธีการจับแบบนี้จะใช้ข้อนิ้วในการควบคุมดินสอ เหมือนการเขียนตัวอักษร
   - เป็นการใช้กล้ามเนื้อเล็กของข้อนิ้วในการควบคุมพื้นที่แคบ หากใช้พื้นที่กว้างขึ้นก็เริ่มใช้ข้อมือเป็นศูนย์กลาง
2. จับจับแบบหลวม ใช้สำหรับร่างภาพ ต้องการสะบัดข้อมือแบบสบายๆ
3. จับแบบใช้ทุกนิ้วสัมผัส เพื่อประคองดินสอให้เป็นแนวเส้นตรงสำหรับการลากเส้นแนวดิ่ง ขวาง หรือเฉียง
4. จับแบบคว่ำมือ ใช้สำหรับการกำหนดเส้นร่างแบบคร่าวๆ และให้เบาบางที่สุด

ได้โปรด กรุณาอย่าใช้นิ้วใดนิ้วหนึ่งล๊อคดินสอ
พยายามจับให้ดินสอเป็นอิสระมากที่สุด
โดยนิ้วแค่เป็นตัวประคองดินสอไว้ให้เหมือนกับว่าดินสอนั้นเป็นส่วนหนึ่งใน
มือของเราที่จะบังคับให้ปลายดินสอนั้นไปทางไหนก็ได้ตามใจปรารถณา
เหมือนกับเวลาใช้นิ้วก้อยแคะขี้มูก




อีกนิดครับสำหรับการเหลาดินสอ EE อยากให้ใช้คัดเตอร์เหลาให้ไส้ดินสอออกมายาวๆหน่อย
เพื่อความสะดวกกับองศาของเนื้อไม้กับไส้ดินสอเวลาวาด
และที่สำคัญ อย่าทำหล่นเด็ดขาด เพราะนั้นหมายถึงไส้ดินสอจะหักข้างใน เพราะไส้เปราะมาก

ตอนนี้ผมจะแนะนำจุดศูนย์กลางของแต่ละส่วนในการหมุนตวัดปลายดินสอให้ฉวัดเฉวียน
แต่ไม่เวียนหัวถ้าทำได้

การใช้กล้ามเนื้อเล็กของข้อนิ้วในการควบคุมพื้นที่แคบสำหรับเก็บรายละเอียด
การใช้ข้อมือเป็นศูนย์กลาง เพื่อร่างภาพในวงแคบ
การใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลาง เพื่อร่างภาพในวงกว้าง
การใช้ไหล่เป็นศูนย์กลางเพื่อร่างภาพในวงกว้างมากขึ้น
กระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อใหญ่ ในการวาดภาพใหญ่ๆ อย่างวาดบนกำแพง เฟรมใหญ่ๆเป็นต้น




เริ่มฝึก

1. ลากเส้นตรงโดยจับดินสอแบบคว่ำใช้ทุกนิ้วสัมผัสให้ใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลางโดยลีอคข้อมือไว้จะได้เส้นที่ตรง
2. ลากเส้น แนวเฉียงโดยจับดินสอแบบคว่ำใช้ทุกนิ้วสัมผัสให้ใช้ข้อศอกเป็นศูนย์กลางโดยลีอคข้อมือไว้จะได้เส้นที่ตรง
3. ลากเส้นแนวนอน โดยจับให้ดินสอแบบคว่ำใช้ทุกนิ้วสัมผัส โดยให้ขนานไปแนวเดียวกับเส้นจะได้เส้นที่ตรง เพราะดินสอได้ถูกประคองไว้ไม่ให้กระดุกกระดิกด้วยนิ้วทั้งห้าของเราแล้ว
4. ตวัดปลายดินสอบนกระดาษด้วยเส้นโค้งสลับกับเส้นที่หมุนวน จนเข้าใจในน้ำหนัก เน้นหนัก เบา ให้ได้อารมณ์ของเส้นเหมือนสายน้ำที่กำลังเลื่อนไหล อย่างไม่หยุดนิ่ง




จากนั้นเราก็จะมาเริ่มฝึกการใช้จินตนาการในกรสร้างขนาดและสัดส่วนของภาพ
เพื่อการที่เราจะสามารถวาดภาพจากต้นแบบได้โดยเข้าใจสัดส่วนและการย่อหรือขยายในขนาดของภาพ

มองเป็นเส้น

ไม่ใช่เด็กเส้น แต่เป็นการฝึกการมองภาพข้างหน้าเราแล้วใส่เส้นเข้าไปในภาพนั้น ว่า...
ขนาดรูปร่างสั้นยาวแค่ไหน แบ่งครึ่ง แบ่งเป็นสามหรือสี่ส่วน
ซึ่งในการฝึกฝนแบบนี้ต้องใช้จินตนาการเป็นสำคัญ คือให้มองให้เห็นเส้นในอากาศที่เราสร้างขึ้นมาเอง
จากนั้นก็ทดลองลากและกำหนดแบ่งเส้น เป็นระยะๆดูคร่าวๆ
กำหนดด้วยตัวเอง ลากและกำหนดแบ่งเส้น เป็นระยะๆดูคร่าวๆ กำหนดด้วยตัวเอง




หาเป็นองศา

เพื่อความง่ายในการร่างภาพ ในการกำหนด ระยะ ขนาด รูปร่าง ระนาบ
หรือพื้นที่ เช่น ของที่วางซ้อนกัน
ถ้ามองเป็นองศาแล้วอยู่ประมาณกี่อาศา
จากนั้นก็ลองนำไม้โปร มาวัดว่าที่เราเดาไว้น่ะแม่นหรือไม่แม่น

การลงน้ำหนัก
ใช้ดินสอ EE ตีกรอบ เพื่อฝึกการไล่น้ำหนัก 6 น้ำหนัก
จากนั้นก็แบ่งครึ่งในช่องน้ำหนักทั้ง 6 ไปเรื่อยๆ
จนสามารถกระจายน้ำหนักได้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ
การลงน้ำหนักนี้ก็เพื่อที่ว่าเราจะสามารถทำให้เกิด ความลึก ระยะ
หรือมิติ เพราะตัวน้ำหนักนี้เอง สามารถทำให้เกิดภาพ 2 มิติ หรือ 3 มิติได้

ถ้าเราไม่รู้จักน้ำหนัก หรือไม่สามารถควบคุมน้ำหนักมือของเราได้
ก็จะสามารถมิติพิศวงให้กับผู้ชมงานรวมทั่งตัวเราเองได้เหมือนกัน






ทีนี้ก็เริ่มร่างวงกลม
ที่เราพยายามร่างมาตั้งแต่ครั้งแรก แต่คราวนี้เราจะเริ่มลงน้ำหนักวัตถุให้กลม โดยรู้จักค่าของแสง+เงา
ที่สำคัญคือต้องค่อยๆเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ
อย่าพยายามทำครั้งเดียวให้เข้ม พยายามกระจายน้ำหนัก ให้ชัดเจนขึ้น
จนกระทั่งเสร็จจากนั้นถึงทำการเน้นจุดที่เข้มที่สุดในภายหลัง

จากนั้นก็ฝึกๆๆๆๆ ฝึกจนชำนาญ
ก่อนที่เราจะออกไปตะลุย Drawing ทุกอย่างที่ขวางหน้าต่อไป.....

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น